
เคล็ดลับ ป้องกันการปวดหลังจากการขับรถ
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องเดินทางไกล การขับรถนานๆ มักเกิดอาการปวดหลังนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ยิ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่การจราจรติดขัดด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ต้องนั่งเกร็งอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากปวดบ่อยๆ ขับนิดๆ หน่อยก็เริ่มปวดแล้ว จนเริ่มมีความกังวลว่าอาการปวดหลังเริ่มจะเรื้อรังแล้วหรือไม่? ก่อนจะสายเกินไปมาดู 5 เคล็ดลับที่จะช่วยป้องกันอาการปวดหลัง ด้วยวิธีปรับท่าทางในการนั่งขับรถ ดังต่อไปนี้
- ปรับเบาะให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
หากคุณไม่ได้เป็นคนใช้รถคนเดียวในบ้าน และมีสมาชิกคนอื่นๆ ใช้รถคันเดียวกับคุณ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนขับรถออกไป ก็คือการปรับเบาะที่นั่งให้ถูกต้อง เช่น มุมองศาพนักพิงควรอยู่ประมาณ 110-130 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้หลังทรุดหรือเอื้อมไปข้างหน้ามากเกินไป ซึ่งการนั่งในตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่หลังได้มากถึง 50%
- ขยับเบาะไปด้านหน้าเล็กน้อย
การเลื่อนเบาะไปข้างหน้าเล็กน้อยทำให้คุณอยู่ใกล้กับพวงมาลัยมากขึ้น ไม่ทำให้หลังค่อมและไม่ต้องเอื้อมไปเหยียบคันเร่งแรงๆ อีกด้วย และท่าที่ดีที่สุดก็คือการที่เข่าของคุณไม่สูงไปกว่าสะโพก
- ปรับตำแหน่งพวงมาลัย
นอกจากการปรับตำแหน่งเบาะนั่งให้ถูกต้องแล้ว คุณจะต้องปรับตำแหน่งของพวงมาลัยเพื่อป้องกันอาการปวดหลังด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ควรวางมือไว้ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และ 3 นาฬิกา วิธีนี้จะช่วยให้คุณวางศอกบนที่วางแขนได้ ช่วยให้บรรเทาอาการปวดบริเวณหลังส่วนบนได้
- ยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ
การนั่งเป็นเวลานานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการชาได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รอรถติดไฟแดง ควรยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ เพื่อผ่อนคลาย จะทำให้คุณขับรถได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
- เตรียมถุงน้ำแข็ง / ถุงร้อน ไว้ในรถ
หากคุณมีแพลนที่จะเดินทางไกลควรเตรียมถุงน้ำแข็งหรือถุงร้อนไว้ในรถเสมอ หากมีอาการบาดเจ็บเฉียบพลันให้ใช้ถุงน้ำแข็ง แต่ถ้ามีอาการบาดเจ็บเรื้อรังให้ใช้ถุงร้อน แต่ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวดังนั้นคุณสามารถเลือกใช้ทั้ง 2 ประเภทได้ตามใจชอบ โดยการนำเอาไว้บริเวณด้านหลังบนเบาะ ถุงเหล่านี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อและลดความครียดที่หลังได้ สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะมีฟังก์ชั่นเบาะร้อน/เย็น ที่สั่งการง่ายๆ เพียงกดปุ่มเดียว ซึ่งสามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน