เตรียมตัวยังไงบ้าง? ก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger ที่บ้าน
โดยปกติเรามักคุ้นชินกับการขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั้ม แต่เมื่อเรามีรถยนต์ไฟฟ้าไว้ในครอบครองหรือกำลังจะถอยรถไฟฟ้าสักคันมาไว้ใช้งาน จำเป็นต้องเตรียมที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่บ้าน เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะกินเวลาหลายนาทีหรือนานหลายชั่วโมง เพื่อความสะดวกหลายคนอยากจะติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ที่บ้านไว้ชาร์จรถ EV ของตัวเอง ซึ่งอาจรู้สึกว่าการเตรียมบ้านเพื่อติดตั้งจุดชาร์จไฟเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่า แต่เรื่องเหล่านี้เป็นการติดตั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อการใช้งานระยะยาวและยั่งยืนกว่า ยิ่งในปัจจุบันราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้น รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐเองก็มีนโยบายสนับสนุนที่ทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น ได้แก่ ลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต รวมถึงการคืนเงินให้กับผู้ซื้อรถ EV แล้วเราต้องเตรียมบ้านรองรับรถพลังงานไฟฟ้านี้อย่างไรบ้าง อาจเป็นคำถามที่รอคำตอบจากช่างไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราช่วยตระเตรียมบ้านและมีความรู้ช่วยเช็คความเหมาะสมได้ด้วย ย่อมดีกว่าแน่ๆ วันนี้ GWM กระบี่ เลยรวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้ง Home Charger ที่บ้านมาฝากกัน
เตรียมบ้านไว้ต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้า
ก่อนทำการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่บ้าน ควรทำการเช็กปริมาณการใช้ไฟในบ้านร่วมกับเครื่องชาร์จไฟก่อนว่า ระบบไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่รองรับการใช้งานได้หรือไม่ โดยมีหลักสำคัญในการตรวจเช็ก คือ มิเตอร์ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าของบ้าน เราสามารถตรวจเช็กตามคำแนะนำในการติดตั้งเพื่อความปลอดภัยดังนี้
- ตรวจเช็กขนาดมิเตอร์ไฟ ถ้ามิเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า 30 แอมป์ (30/100) เช่น 5 แอมป์ หรือ 15 แอมป์ ควรแจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้มีขนาดตั้งแต่ 30 แอมป์ขึ้นไป หรือถ้าเป็นมิเตอร์ 3 เฟส ก็ควรใช้ขนาด 15/45 เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณการใช้ไฟในบ้านที่มากขึ้น แต่การพิจารณาว่าจะใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ก็ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้งควบคู่กันไปด้วย
- ตรวจเช็กขนาดสายไฟเมน หลังจากเช็กมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ก็ต่อด้วยการเช็กขนาดสายไฟเมน หรือขนาดสายไฟที่เชื่อมมายังตู้ควบคุม หากยังเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร (ตร.มม.) ซึ่งเป็นขนาดหน้าของสายหริอขนาดของสายทองแดงนั่นเอง รวมไปถึงเช็กตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ควรใช้ตู้ที่สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ด้วย
- ตรวจเช็กตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) โดยดูว่ามีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker หรือไม่ เพราะการติดตั้งที่ชาร์จรถ EV จะต้องแยกช่องจ่ายไฟออกไปต่างหาก และช่องว่างนั้นควรมีขนาดตามพิกัดที่สามารถรองรับกระแสไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย ทั้งนี้ เวลาสร้างบ้านแล้วมีการติดตั้งตู้ประเภทนี้ควรมีช่องเหลือไว้ เช่น หากจำเป็นต้องใช้ 6 ช่อง ก็ควรเลือกตู้แบบ 10 ช่อง ให้มีเหลือไว้อีก 4 ช่อง เผื่อติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายหลัง ก็จะได้สามารถมาติดช่องเพิ่มได้
- ตรวจเช็กเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RDC เมื่อเกิดการใช้ไฟเกินพอดี เหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า อาจนำมาซึ่งการเกิดไฟดูดแก่ผู้ใช้หรือเจ้าของบ้าน โดยเราจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือ RCD (Residual Current Devices) เอาไว้มั้ย โดยเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วตามมาตรฐานต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA ต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลาเพียง 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (150 mA) แต่ถ้าตัวชาร์จรถยนต์ที่จะติดตั้งมีระบบตัดไฟอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้ง RCD เพิ่ม
- ตรวจเช็กเต้ารับ เต้ารับที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV จะไม่เหมือนเต้ารับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน การเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าควรใช้แบบ 3 รู และใช้หลักดินแยกออกจากหลักดินของระบบไฟในบ้าน โดยสายต่อหลักดินรถ EV ควรเป็นสายหุ้มฉนวน มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดินควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร ตามมาตรฐาน และการต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อด้วยความร้อน
- ตรวจเช็กตำแหน่งก่อนติดตั้ง การติดตั้งจุดชาร์จไม่ใช่ว่าตั้งตรงไหนก็ได้ที่สายไฟไปถึง เนื่องจากมีระยะเหมาะสมของมันอยู่
- ห่างได้ แต่ไม่ควรเกิน 5 เมตร จากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จไปถึงจุดจอดรถไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายชาร์จ EV Charger ทั่วไปมีความยาวไม่เกิน 7 เมตรเท่านั้น ลองนึกถึงการเติมน้ำมันแบบที่เราคุ้นเคยก็ได้ ถ้าระยะไกลไป สายก็ไปไม่ถึงตัวรถ หรือหากต้องใช้การดึงบ่อยเข้าก็คงไม่ดีกับสายชาร์จแน่
- เดินไฟอย่าไกลตู้ เลือกพิกัดติดตั้งจุดชาร์จที่สามารถเดินสายไฟไปได้ไม่ไกลจากตู้ควบคุมไฟฟ้า นอกจากช่างจะทำงานสะดวก ประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟด้วย
- โปรดชาร์จใต้หลังคา ตำแหน่งที่ติดตั้งควรอยู่ในที่ร่ม สามารถป้องกันแดด ป้องกันฝนได้ เพราะถึง EV Charger จะมีระบบกันน้ำในตัว แต่คงไม่เหมาะกับการตากแดดตากฝนทั้งวันทั้งคืน ยังไงก็ควรถนอมไว้ให้ดีเพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การเพิ่มขนาดมิเตอร์จะต้องมีการปรับปรุงสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ รวมปรับเปลี่ยนตู้ Consumer Unit และเมนเบรกเกอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อลดภาระดังกล่าว และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทาง กฟน. และ กฟภ. จึงมีรูปแบบทางเลือกในการติดตั้ง EV Charger เพิ่มเติม ดังนี้
- กฟน. อนุโลมให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถขอติดตั้ง EV Charger เพิ่มจากโหลดการใช้ไฟฟ้าเดิม โดยการติดตั้งสายเมนวงจรที่สองสำหรับ EV Charger โดยเฉพาะได้ โดยจะต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสม ทั้งนี้กำลังไฟในการใช้งานรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกินขนาดที่มิเตอร์รองรับ
- กฟภ. อนุญาตให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าลูกที่สอง สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะได้ โดยการเดินสายเมนที่สองจากมิเตอร์ลูกใหม่ไปถึงจุดติดตั้งโดยตรง โดยมิเตอร์ลูกที่สองไม่จำเป็นต้องมีขนาดและประเภทเดียวกันกับมิเตอร์ไฟฟ้าลูกแรก
สำหรับท่านใดที่มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วหรือกำลังจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ และอยากจะมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ที่บ้านเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเติมพลังงานแล้วละก็ อย่าลืมทำการเช็กลิสต์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้ครบ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทรัพย์สินในบ้าน
สนใจทดลองขับรถ GWM ได้ทุกรุ่น ติดต่อฝ่ายขาย : 099-310-8265
หรือกรอกฟอร์มทดลองขับ คลิกที่นี้