เตรียมตัวยังไงบ้าง? ก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger ที่บ้าน

เตรียมตัวยังไงบ้าง? ก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger ที่บ้าน

เตรียมตัวยังไงบ้าง? ก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger ที่บ้าน

โดยปกติเรามักคุ้นชินกับการขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั้ม แต่เมื่อเรามีรถยนต์ไฟฟ้าไว้ในครอบครองหรือกำลังจะถอยรถไฟฟ้าสักคันมาไว้ใช้งาน จำเป็นต้องเตรียมที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่บ้าน เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะกินเวลาหลายนาทีหรือนานหลายชั่วโมง เพื่อความสะดวกหลายคนอยากจะติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ที่บ้านไว้ชาร์จรถ EV ของตัวเอง ซึ่งอาจรู้สึกว่าการเตรียมบ้านเพื่อติดตั้งจุดชาร์จไฟเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่า แต่เรื่องเหล่านี้เป็นการติดตั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อการใช้งานระยะยาวและยั่งยืนกว่า ยิ่งในปัจจุบันราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้น รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐเองก็มีนโยบายสนับสนุนที่ทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น ได้แก่ ลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต รวมถึงการคืนเงินให้กับผู้ซื้อรถ EV แล้วเราต้องเตรียมบ้านรองรับรถพลังงานไฟฟ้านี้อย่างไรบ้าง อาจเป็นคำถามที่รอคำตอบจากช่างไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราช่วยตระเตรียมบ้านและมีความรู้ช่วยเช็คความเหมาะสมได้ด้วย ย่อมดีกว่าแน่ๆ วันนี้ GWM กระบี่ เลยรวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้ง Home Charger ที่บ้านมาฝากกัน

เตรียมบ้านไว้ต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้า

ก่อนทำการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่บ้าน ควรทำการเช็กปริมาณการใช้ไฟในบ้านร่วมกับเครื่องชาร์จไฟก่อนว่า ระบบไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่รองรับการใช้งานได้หรือไม่ โดยมีหลักสำคัญในการตรวจเช็ก คือ มิเตอร์ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าของบ้าน เราสามารถตรวจเช็กตามคำแนะนำในการติดตั้งเพื่อความปลอดภัยดังนี้

  1. ตรวจเช็กขนาดมิเตอร์ไฟ ถ้ามิเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า 30 แอมป์ (30/100) เช่น 5 แอมป์ หรือ 15 แอมป์ ควรแจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้มีขนาดตั้งแต่ 30 แอมป์ขึ้นไป หรือถ้าเป็นมิเตอร์ 3 เฟส ก็ควรใช้ขนาด 15/45 เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณการใช้ไฟในบ้านที่มากขึ้น แต่การพิจารณาว่าจะใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ก็ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้งควบคู่กันไปด้วย 
  2. ตรวจเช็กขนาดสายไฟเมน หลังจากเช็กมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ก็ต่อด้วยการเช็กขนาดสายไฟเมน หรือขนาดสายไฟที่เชื่อมมายังตู้ควบคุม หากยังเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร (ตร.มม.) ซึ่งเป็นขนาดหน้าของสายหริอขนาดของสายทองแดงนั่นเอง รวมไปถึงเช็กตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ควรใช้ตู้ที่สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ด้วย 
  3. ตรวจเช็กตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) โดยดูว่ามีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker หรือไม่ เพราะการติดตั้งที่ชาร์จรถ EV จะต้องแยกช่องจ่ายไฟออกไปต่างหาก และช่องว่างนั้นควรมีขนาดตามพิกัดที่สามารถรองรับกระแสไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย ทั้งนี้ เวลาสร้างบ้านแล้วมีการติดตั้งตู้ประเภทนี้ควรมีช่องเหลือไว้ เช่น หากจำเป็นต้องใช้ 6 ช่อง ก็ควรเลือกตู้แบบ 10 ช่อง ให้มีเหลือไว้อีก 4 ช่อง เผื่อติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายหลัง ก็จะได้สามารถมาติดช่องเพิ่มได้ 
  4. ตรวจเช็กเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RDC เมื่อเกิดการใช้ไฟเกินพอดี เหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า อาจนำมาซึ่งการเกิดไฟดูดแก่ผู้ใช้หรือเจ้าของบ้าน โดยเราจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือ RCD (Residual Current Devices) เอาไว้มั้ย โดยเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วตามมาตรฐานต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA ต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลาเพียง 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (150 mA) แต่ถ้าตัวชาร์จรถยนต์ที่จะติดตั้งมีระบบตัดไฟอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้ง RCD เพิ่ม
  5. ตรวจเช็กเต้ารับ เต้ารับที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV จะไม่เหมือนเต้ารับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน การเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าควรใช้แบบ 3 รู และใช้หลักดินแยกออกจากหลักดินของระบบไฟในบ้าน โดยสายต่อหลักดินรถ EV ควรเป็นสายหุ้มฉนวน มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดินควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร ตามมาตรฐาน และการต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อด้วยความร้อน  
  6. ตรวจเช็กตำแหน่งก่อนติดตั้ง การติดตั้งจุดชาร์จไม่ใช่ว่าตั้งตรงไหนก็ได้ที่สายไฟไปถึง เนื่องจากมีระยะเหมาะสมของมันอยู่ 
    • ห่างได้ แต่ไม่ควรเกิน 5 เมตร จากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จไปถึงจุดจอดรถไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายชาร์จ EV Charger ทั่วไปมีความยาวไม่เกิน 7 เมตรเท่านั้น ลองนึกถึงการเติมน้ำมันแบบที่เราคุ้นเคยก็ได้ ถ้าระยะไกลไป สายก็ไปไม่ถึงตัวรถ หรือหากต้องใช้การดึงบ่อยเข้าก็คงไม่ดีกับสายชาร์จแน่ 
    • เดินไฟอย่าไกลตู้ เลือกพิกัดติดตั้งจุดชาร์จที่สามารถเดินสายไฟไปได้ไม่ไกลจากตู้ควบคุมไฟฟ้า นอกจากช่างจะทำงานสะดวก ประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟด้วย
    • โปรดชาร์จใต้หลังคา ตำแหน่งที่ติดตั้งควรอยู่ในที่ร่ม สามารถป้องกันแดด ป้องกันฝนได้ เพราะถึง EV Charger จะมีระบบกันน้ำในตัว แต่คงไม่เหมาะกับการตากแดดตากฝนทั้งวันทั้งคืน ยังไงก็ควรถนอมไว้ให้ดีเพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การเพิ่มขนาดมิเตอร์จะต้องมีการปรับปรุงสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ รวมปรับเปลี่ยนตู้ Consumer Unit และเมนเบรกเกอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อลดภาระดังกล่าว และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทาง กฟน. และ กฟภ. จึงมีรูปแบบทางเลือกในการติดตั้ง EV Charger เพิ่มเติม ดังนี้

  • กฟน. อนุโลมให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถขอติดตั้ง EV Charger เพิ่มจากโหลดการใช้ไฟฟ้าเดิม โดยการติดตั้งสายเมนวงจรที่สองสำหรับ EV Charger โดยเฉพาะได้ โดยจะต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสม ทั้งนี้กำลังไฟในการใช้งานรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกินขนาดที่มิเตอร์รองรับ
  • กฟภ. อนุญาตให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าลูกที่สอง สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะได้ โดยการเดินสายเมนที่สองจากมิเตอร์ลูกใหม่ไปถึงจุดติดตั้งโดยตรง โดยมิเตอร์ลูกที่สองไม่จำเป็นต้องมีขนาดและประเภทเดียวกันกับมิเตอร์ไฟฟ้าลูกแรก

สำหรับท่านใดที่มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วหรือกำลังจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ และอยากจะมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ที่บ้านเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเติมพลังงานแล้วละก็ อย่าลืมทำการเช็กลิสต์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้ครบ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทรัพย์สินในบ้าน

สนใจทดลองขับรถ GWM ได้ทุกรุ่น ติดต่อฝ่ายขาย : 099-310-8265
หรือกรอกฟอร์มทดลองขับ คลิกที่นี้ 

error: Content is protected !!